1.1 ลักษณะที่ตั้งและอาณาเขต
จังหวัดยะลาเป็นจังหวัดหนึ่งในชายแดนภาคใต้ โดยมีอำเภอเบตง เป็นอำเภอใต้สุดของประเทศไทย มีเนื้อที่ประมาณ 4,521.078 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 2,825,673.75 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 6.4 ของพื้นที่ภาคใต้ มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัด และประเทศใกล้เคียง ดังนี้
• ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดสงขลา และจังหวัดปัตตานี เช่น อำเภอเมือง อำเภอรามัน บางส่วน
• ทิศใต้ ติดต่อกับรัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย เช่น อำเภอเบตง
• ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดนราธิวาส และรัฐเปรัค ประเทศมาเลเซียเช่น อำเภอรามัน อำเภอบันนังสตา และอำเภอธารโต บางส่วน
• ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดสงขลา และรัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย เช่น อำเภอกาบัง อำเภอยะหา อำเภอธารโต
จังหวัดยะลา แบ่งเขตการปกครอง ออกเป็น 7 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอ 56 ตำบล 365 หมู่บ้าน 55 อบต. 8 เทศบาล (1 เทศบาลนคร 1 เทศบาลเมือง 6 เทศบาลตำบล) และ 1 อบจ.
อำเภอ/กิ่งอำเภอ | ตำบล | หมู่บ้าน | เทศบาล | อบต. |
อำเภอเมืองยะลา | 13 | 80 | 2 | 13 |
อำเภอรามัน | 16 | 87 | 2 | 15 |
อำเภอเบตง | 4 | 27 | 1 | 4 |
อำเภอยะหา | 7 | 45 | 1 | 7 |
อำเภอบันนังสตา | 6 | 50 | 1 | 6 |
อำเภอธารโต | 4 | 36 | 1 | 4 |
อำเภอกาบัง | 2 | 17 | – | 2 |
อำเภอกรงปินัง | 4 | 23 | – | 4 |
รวม | 56 | 365 | 8 | 55 |
1.2 ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปส่วนใหญ่เป็นป่าเขาเนินสูงและภูเขาเตี้ยสลับซับซ้อนจะมีพื้นที่ราบเพียงเล็กน้อยบริเวณตอนเหนือของจังหวัดส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม มีความเหมาะสมในการทำนาส่วนบริเวณตอนใต้ของจังหวัดเป็นป่าเขาและเนินสูง ปกคลุมไปด้วยป่าไม้
1.3 ลักษณะภูมิอากาศ
จังหวัดยะลามีอากาศชุ่มชื้นและอบอุ่นในตอนกลางวันและอากาศเย็นสบายในตอนกลางคืนสภาพอากาศแบบร้อนชื้น มี 2 ฤดู คือ ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนกรกฎาคม และฤดูฝนเริ่มตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม ถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยประมาณ 22.1 องศาเซลเซียส และสูงสุดเฉลี่ย 36.7 องศาเซสเซียสปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 2,281.6 มิลลิเมตร ต่อปีมีฝนตกเฉลี่ย 140 วันต่อปีเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน มีฝนตกชุกที่สุด