นโยบาย
คำแถลงนโยบายองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา
นโยบายของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา
จังหวัดยะลาต้องการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ ด้วยแนวคิดของนโยบายใหม่ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐาน แห่งข้อมูล ความรอบรู้และสติปัญญา ที่เข้าใจในรากเหง้าแห่งปัญหา และทันโลกทันเหตุการณ์ปัจจุบัน ประชาชนทุกระดับได้รับความเดือดร้อน อันเกิดจากการมีรายได้ไม่เพียงพอกับ รายจ่าย ซึ่งเป็นผลมาจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ กำลังซื้อของคนในจังหวัดตกต่ำ จึงตั้งเป้าหมาย ที่จะดำเนินนโยบาย เพื่อลดความยากจน และนำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ ลดค่าใช้จ่ายให้แก่ ประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เพียงพอกับรายจ่าย นำไปสู่การพอมีพอกิน และเหลือจากนั้น จึงนำไปสู่การสร้างชีวิตใหม่ ดังนั้น เพื่อให้การบริหารสามารถบรรลุถึงและดำเนินไปด้วยแนวทางที่กล่าวมาแล้ว จึงได้ กำหนดนโยบายดังต่อไปนี้
1. ด้านการบริหารจัดการ
1.1 สนับสนุนและส่งเสริมการบริหารตามหลักธรรมมาภิบาล โดยยึดหลักการทำงานภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมและการบูรณาการ มีแผนปฏิบัติการที่แน่ชัด โปร่งใส สามารถตรวจสอบติดตามผลได้ในทุกขั้นตอน
1.2 สนับสนุนการบริหารของผู้ว่าราชการจังหวัด CEO เพื่อให้การบริหารจัดการบ้านเมืองของจังหวัดยะลา เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนอย่างแท้จริง
1.3 สนับสนุนและส่งเสริมให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด ให้เป็นศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีและการสื่อสารของท้องถิ่นทุกรูปแบบ รวมทั้งการเชื่อมโยงข้อมูลการพัฒนาท้องถิ่นเพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัด
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนโยบายของรัฐบาล
1.4 เร่งรัดพัฒนาระบบราชการและยุทธศาสตร์กำลังคน เพื่อให้บุคลากรขององค์การบริหารส่วนจังหวัด มีความรู้ ความสามารถ ทักษะ ทัศนคติ และจิตสำนึกในการบริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพและ
ประสิทธิผล รวดเร็วทันเวลา ตรงตามความต้องการของประชาชน
1.5 ให้ความร่วมมือกับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในการพัฒนาจังหวัดในทุก ๆ ด้าน
1.6 มุ่งเน้นการปฏิบัติงานในเชิงรุก โดยจัดเตรียมเครื่องมือเครื่องใช้ ยานพาหนะ วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้พร้อมที่จะสนับสนุนการพัฒนาท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ประหยัดและคุ้มค่า
2. ด้านการพัฒนา “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” และแก้ไขปัญหาของประชาชน
2.1 แนวนโยบายทั่วไป คือมุ่งเน้นการพัฒนาแบบยั่งยืน โดยยึดหลักว่า “การสร้างความเจริญต้องคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”
2.2 สนับสนุนการพัฒนาภายใต้นโยบายของกระทรวงมหาดไทย และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
2.3 นโยบายการพัฒนาเฉพาะด้าน แยกได้ดังนี้
1. พัฒนาด้านการบริการและการท่องเที่ยว
การท่องเที่ยว คือ หนทางสำคัญของการนำรายได้กระแสเงินสดเข้าสู่จังหวัดและประเทศ จึงควรเพิ่มความหลากหลายของรูปแบบการให้บริการและการท่องเที่ยว และการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคบริการและการท่องเที่ยว ดังนี้
– ปรับปรุงและพัฒนาปัจจัยพื้นฐานอันจำเป็นต่อการเพิ่มประสิทธิภาพ และส่งเสริมความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานของประชาชนในท้องถิ่น
– สนันสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพัฒนายุทธศาสตร์ เพื่อให้เป็นแหล่งสร้างรายได้เงินตราต่างประเทศและรายได้ของท้องถิ่น เช่น การท่องเที่ยว การศึกษาการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ
การกีฬาและนันทนาการ
– สนับสนุนให้มีการเร่งพัฒนาผู้ประกอบการด้านบริการให้มีความรู้ และทักษะทั้งด้านภาษา มาตรฐานการบริการและการจัดการ เพื่อสร้างความเข้มแข็ง
– เร่งฟื้นฟูระดับความสัมพันธ์และความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้ยะลาเป็นประตูผ่านหลักของการท่องเที่ยวในด้านการตลาด การขนส่ง การลงทุน การบริหารจัดการรวมถึงการขจัดอุปสรรคในการท่องเที่ยว
– บริหารจัดการท่องเที่ยวโดยใช้กลยุทธ์การตลาดเชิงรุก โดยสร้างกิจกรรมท่องเที่ยวทั้งระดับภายในประเทศและระหว่างประเทศ เชื่อมโยงกับวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็กและธุรกิจชุมชน พัฒนาคุณภาพบริการท่องเที่ยวเข้าสู่ระบบมาตรฐาน
– เร่งพัฒนา บูรณะ ฟื้นฟูมรดกและสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม ทั้งในเขตเมืองและนอกเมือง เพื่อให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวใหม่ สร้างแหล่งจับจ่ายซื้อขายสินค้าของนักท่องเที่ยว โดยจะส่งเสริมบทบาทเอกชนร่วมกับชุมชนในการรักษาแหล่งท่องเที่ยว และวิถีชีวิตให้อยู่ในสภาพเดิมอย่างต่อเนื่อง
– เพิ่มความหลากหลายของการท่องเที่ยวในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ รวมทั้งการท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรม โดยส่งเสริมการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ และให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยว และการพัฒนาพื้นที่ชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยว
– เพิ่มมาตรการอำนวยความสะดวก สร้างความปลอดภัย และป้องกันการเอาเปรียบนักท่องเที่ยว รวมทั้งเร่งรัดการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของนักท่องเที่ยวอย่างจริงจัง
2. ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและการส่งเสริมอาชีพของประชาชน
– จะสนับสนุนส่งเสริมโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ การจัดตั้งศูนย์จำหน่ายสินค้าชุมชน การเกษตรอินทรีย์ การส่งเสริมอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้าและอื่น ๆ เพื่อเพิ่มรายได้ต่อครัวเรือนให้สูงขึ้นทุกปี รวมถึงการสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการลงทุนภาคเอกชนมากยิ่งขึ้น
– ส่งเสริมการจัดตั้งตลาดกลางการเกษตรเพื่อส่งเสริมสินค้าของชุมชน
– ส่งเสริมจัดตั้งกองทุนผู้มีฐานะยากจน เพื่อส่งเสริมให้สามารถประกอบอาชีพ และพึ่งตนเองได้
– ส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์แสดงสินค้า OTOP และผลิตภัณฑ์อาหาร HALAL เพื่อขยายตลาดการค้า และเพิ่มโอกาสให้ประชาชน ตลอดจนสามารถประยุกต์ใช้สถานที่ดังกล่าว เป็นลานวัฒนธรรมของจังหวัดยะลา
– สนับสนุนส่งเสริมให้มีผู้ประกอบการรายใหม่ SMEs
– ส่งเสริมการค้าชายแดน
– ส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกพืชเศรษฐกิจเมืองหนาว (ไม่ผลและไม้ดอก)
3. ด้านการศึกษา ศาสนา สังคม วัฒนธรรม สังคมสงเคราะห์ และภูมิปัญญาท้องถิ่น
– จะให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาขั้นพื้นฐาน การสนับสนุนส่งเสริมกิจกรรมด้านศาสนาทุกศาสนา การส่งเสริมวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อบรรลุสู่ความเป็น “บ้านเมืองน่าอยู่” และการ “เชิดชูคุณธรรม” เพื่อทำให้จังหวัดยะลาเป็น “สังคมแห่งความสมานฉันท์และการเอื้ออาทร”
– ส่งเสริมและสนับสนุนจารีตประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่น
– สนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาตามนโยบายของรัฐบาล เจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542
– ให้มีการจัดตั้งกองทุนเกี่ยวกับการศึกษาให้กับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายได้ศึกษาถึงระดับปริญญาตรี ในแต่ละเขตพื้นที่ อบจ. 24 เขต ๆ ละ 1 ทุน
– สนับสนุนการจัดการศึกษาภาษาที่สอง เพื่อสามารถสื่อสารรองรับธุรกิจการค้าชายแดน และภาคบริการ
– การสร้างความเป็นเลิศแก่เยาวชน สนับสนุนส่งเสริมบุคคลผู้ทำความดีแก่สังคม
– การจัดให้มีสุสานและฌาปนสถาน
4. ด้านโครงสร้างพื้นฐาน
– ส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายคมนาคมขนส่งและสื่อสาร บนพื้นฐานของการเกื้อหนุนการผลิต การสร้างงานและสร้างรายได้ในท้องถิ่น
– พัฒนาระบบสื่อสารโทรคมนาคมให้ทันสมัยและทั่วถึง เพื่อประโยชน์ในการรับส่งข่าวสาร การติดต่อสารสนเทศต่าง ๆ ไปสู่ประชาชน เชื่อมโยงกับต่างประเทศ และรองรับต่อการเปิดเสรีในธุรกิจโทรคมนาคม
– จะสนับสนุนการสร้างและบำรุงรักษาเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมต่อระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ การสาธารณูปโภค สาธารณูปการต่าง ๆ ให้ทั่วถึง
– จัดให้มีการบำรุงการไฟฟ้าหรือแสงสว่าง
– จัดให้มีน้ำสะอาดหรือการประปา
– จัดให้มีการบำรุงทางระบายน้ำ
– จัดให้มีตลาด ท่าเทียบเรือและท่าข้าม
5. ด้านการกีฬา และนันทนาการ
– ส่งเสริมกิจกรรมกีฬาระดับชุมชนและโรงเรียน เพื่อส่งเสริมสุขภาพ และเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาสู่กีฬาเพื่อสุขภาพ และกีฬาเพื่อความเป็นเลิศยิ่งขึ้น โดยสนับสนุนบทบาทของภาคเอกชนให้มีส่วนร่วมในการพัฒนากีฬา
– ส่งเสริมและสนับสนุนการแข่งขันกีฬาระดับประเทศ และระดับนานาชาติอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างเกียรติภูมิแก่ประเทศ และความภูมิใจของประชาชน ตลอดจนส่งเสริมและปลูกฝังค่านิยมที่ดีต่อกีฬา
– จัดให้มีและบำรุงสถานที่สำหรับการกีฬา การพักผ่อนหย่อนใจ และสวนสาธารณะ
– สนับสนุนส่งเสริมกิจกรรมนันทนาการ
6. ด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
– สนับสนุนและส่งเสริมในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภายใต้นโยบายเร่งด่วน โดยหลักการป้องกันนำหน้าการปราบปราม ผู้เสพต้องได้รับการรักษา ผู้ค้าต้องได้รับการลงโทษ
7. ด้านสาธารณสุข
– สนับสนุนการสร้างสุขภาพของประชาชน โดยเน้นหลักการบูรณาการกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
– สนับสนุนนโยบายการประกันสุขภาพและคุ้มครองด้านสุขภาพของประชาชนให้ได้มาตรฐาน
– สนับสนุนการควบคุมและป้องกันโรคและสิ่งเสพติด ที่ก่อให้เกิดปัญหากระทบต่อสังคมอย่างจริงจังในเชิงรุก
8. ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นโยบายในการฟื้นฟูสภาพและคุณภาพการป้องกันการเสื่อมโทรมหรือการสูญสิ้นไป การนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ให้เอื้อต่อการดำรงชีวิต เกิดความสมดุลในการพัฒนา และเป็นรากฐานในการพัฒนาเศรฐกิจและและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน ดังนี้
(1) บริหารและจัดการสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพแบบบูรณาการ ในการกำจัดมูลฝอย สิ่งปฏิกูลรวม และการดูแลระบบน้ำเสียรวม โดยยึดหลักธรรมาภิบาลและการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนท้องถิ่น
(2) ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน ในการควบคุมและกำจัด มลภาวะที่มีผลต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ และคุณภาพชีวิตของประชาชน
(3) สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของคนไทย สำหรับการแสวงการบริการจัดการ การอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติทุกแหล่ง รวมถึงการนำสิ่งของหรือเศษวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่