1. สภาพทั่วไป

1.1 ลักษณะที่ตั้งและอาณาเขต
จังหวัดยะลาเป็นจังหวัดหนึ่งในชายแดนภาคใต้ โดยมีอำเภอเบตง เป็นอำเภอใต้สุดของประเทศไทย มีเนื้อที่ประมาณ 4,521.078 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 2,825,673.75 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 6.4 ของพื้นที่ภาคใต้ มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัด และประเทศใกล้เคียง ดังนี้
• ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดสงขลา และจังหวัดปัตตานี เช่น อำเภอเมือง อำเภอรามัน บางส่วน
• ทิศใต้ ติดต่อกับรัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย เช่น อำเภอเบตง
• ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดนราธิวาส และรัฐเปรัค ประเทศมาเลเซียเช่น อำเภอรามัน อำเภอบันนังสตา และอำเภอธารโต บางส่วน
• ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดสงขลา และรัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย เช่น อำเภอกาบัง อำเภอยะหา อำเภอธารโต
จังหวัดยะลา แบ่งเขตการปกครอง ออกเป็น 7 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอ 56 ตำบล 365 หมู่บ้าน 55 อบต. 8 เทศบาล (1 เทศบาลนคร 1 เทศบาลเมือง 6 เทศบาลตำบล) และ 1 อบจ.

อำเภอ/กิ่งอำเภอ ตำบล  หมู่บ้าน เทศบาล อบต.
อำเภอเมืองยะลา 13 80 2 13
อำเภอรามัน 16 87 2 15
อำเภอเบตง 4 27 1  4
อำเภอยะหา 7 45 1  7
อำเภอบันนังสตา 6 50 1  6
อำเภอธารโต 4 36 1  4
อำเภอกาบัง 2 17  2
อำเภอกรงปินัง 4 23  4
รวม 56 365 8 55

1.2 ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปส่วนใหญ่เป็นป่าเขาเนินสูงและภูเขาเตี้ยสลับซับซ้อนจะมีพื้นที่ราบเพียงเล็กน้อยบริเวณตอนเหนือของจังหวัดส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม มีความเหมาะสมในการทำนาส่วนบริเวณตอนใต้ของจังหวัดเป็นป่าเขาและเนินสูง ปกคลุมไปด้วยป่าไม้

1.3 ลักษณะภูมิอากาศ
จังหวัดยะลามีอากาศชุ่มชื้นและอบอุ่นในตอนกลางวันและอากาศเย็นสบายในตอนกลางคืนสภาพอากาศแบบร้อนชื้น มี 2 ฤดู คือ ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนกรกฎาคม และฤดูฝนเริ่มตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม ถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยประมาณ 22.1 องศาเซลเซียส และสูงสุดเฉลี่ย 36.7 องศาเซสเซียสปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 2,281.6 มิลลิเมตร ต่อปีมีฝนตกเฉลี่ย 140 วันต่อปีเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน มีฝนตกชุกที่สุด

2. ลักษณะโครงสร้างพื้นฐาน

2.1 การคมนาคม
จังหวัดยะลา ตั้งอยู่ทางตอนใต้สุดของประเทศไทย โดยมีเส้นทางคมนาคม เข้าสู่จังหวัด จำนวน 2 เส้นทาง คือ
2.1.1. เส้นทางรถไฟ มีระยะทางประมาณ 1,039 กิโลเมตร จากกรุงเทพฯ
2.1.2. เส้นทางรถยนต์ ทางหลวงแผ่นดิน ระยะทาง 1,084 กิโลเมตร จากกรุงเทพฯ
จังหวัดยะลา มีถนนสายหลักที่สำคัญ ไปสู่อำเภอต่าง ๆ ได้แก่ ยะลา-เบตง ระยะทาง 140 กม. ยะลา รามัน ระยะทาง 26 กม. ยะลา-กาบัง ระยะทาง 40 กม. ยะลา-ยะหา ระยะทาง 20 กม. ยะลา-ธารโต ระยะทาง 70 กม. ยะลา-บันนังสตา ระยะทาง 38 กม. ยะลา-กิ่งอำเภอกรงปินัง ระยะทาง 18 กม.

2.2 การไฟฟ้า
สำหรับไฟฟ้าที่ใช้ในจังหวัดยะลา มีแหล่งที่ผลิตไฟฟ้า 2 แห่ง คือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 3 ภาค 4 สามารถใช้กระแสไฟฟ้าได้ทั่วทั้งจังหวัด และอีกแห่ง คือ กระแสไฟฟ้าจากเขื่อนบางลางโดยการก่อสร้างของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังน้ำซึ่งสามารถส่งกระแสไฟฟ้าไปใช้ยังจังหวัด ใกล้เคียงด้วย

2.3 การสื่อสารและโทรคมนาคม
การไปรษณีย์โทรเลข จังหวัดยะลา มีที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข จำนวน 9 แห่ง โดยแยกเป็นอำเภอเมือง 3 แห่ง อำเภอธารโต 2 แห่ง อำเภอบันนังสตา ยะหา เบตง รามัน อำเภอละ 1 แห่ง
การโทรศัพท์ มีสำนักงานโทรศัพท์ เขต 3 ภาค 4 ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลสะเตงนอก อำเภอเมือง จังหวัดยะลา องค์การโทรศัพท์ มีชุมสาย 21 แห่ง 17,030 เลขหมาย และบริษัทไทยเทเลโฟน แอนด์ เทเลคอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) TT&T มีชุมสายโทรศัพท์ 11 แห่ง จำนวน 12,160 เลขหมาย
สถานีวิทยุ จังหวัดยะลา มีสถานีวิทยุกระจายเสียง 5 สถานี คือ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดยะลา สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย อำเภอเบตง สถานีวิทยุกระจายเสียงวปถ. 16 ยะลา สถานีวิทยุกระจายเสียง กวส. 7 ยะลา และสถานีวิทยุกระจายเสียงขององค์การสื่อสารมวลชน แห่งประเทศไทย (อสมท.) จังหวัดยะลา
โทรทัศน์ จังหวัดยะลา สามารถรับสัญญานโทรทัศน์ของส่วนกลางได้ทั้ง 6 สถานี คือ สถานีโทรทัศน์ ช่อง 3, 5, 7, 9, 11 และ ไอทีวี (ITV.)
นอกจากนี้จังหวัดยะลามีสำนักงานบริการโทรคมนาคมของการสื่อสารแห่งประเทศไทย 1 แห่งที่ให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศการบริการวงจรเช่าภายใน ประเทศ ให้บริการระบบวิทยุมือ ฯลฯ

3 ลักษณะทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

3.1 ทรัพยากรจากดิน

พื้นที่ในเขตจังหวัดยะลาส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นป่าและภูเขามีที่ราบลุ่มเป็นส่วนน้อยจากทรัพยากรจากดินจึงมีสวนยางเป็นพืชเศรษฐกิจที่สามารถปลูกในพื้นที่ราบสูงได้ และมีพืชผล เช่น ทุเรียนลองกอง เงาะ ปลูกแซมไปทั่วทุกหนทุกแห่ง ส่วนที่ราบลุ่มก็พอจะปลูกข้าวได้บ้างแต่ไม่มาก
3.2 ทรัพยากรจากน้ำ

3.2.1 แหล่งน้ำธรรมชาติที่เป็นหัวใจสำคัญของจังหวัดยะลา ได้แก่ แม่น้ำปัตตานี ซึ่งไหลจากประเทศมาเลเซีย ผ่านอำเภอเบตง อำเภอธารโต อำเภอบันนังสตา และอำเภอเมือง ไหลลงสู่ทะเลที่จังหวัดปัตตานี ส่วนแม่น้ำสายบุรี ได้หล่อเลี้ยงในอำเภอรามัน นอกจากนั้นยังมีคลอง และห้วยหนอง กระจัด-กระจายอยู่ทั่วไป
3.2.2 เขื่อนในจังหวัดยะลา มีอยู่ 2 แห่ง คือ
1. เขื่อนบางลาง เป็นเขื่อนหินทิ้งแกนดินเหนียว สร้างกั้นแม่น้ำปัตตานี มีเนื้อประมาณ35,000 ไร่ ก่อสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ ดังนี้
• ผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังน้ำ ขนาดกำลังผลิต 24,000 กิโลวัตต์ส่งกระแสไปในจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และจังหวัดอื่นในภาคใต้
• ป้องกันอุทกภัย เนื่องจากแม่น้ำปัตตานีในเขตจังหวัดยะลา มีต้นน้ำเป็นพื้นที่ป่า ภูเขา ต้นลำน้ำแคบและสั้น ทำให้น้ำไหลจากที่สูงแรง เมื่อน้ำจากหลายแห่งไหลลงสู่แม่น้ำซึ่งสามารถเก็บน้ำได้มาก แต่ทำให้น้ำไหลช้า จึงทำให้น้ำล้นท่วมไปในบริเวณใกล้เคียง ท่วมพืชสวนชาวบ้านทำให้พืชผลเสียหาย แอ่งเก็บน้ำหน้าเขื่อน สามารถเก็บกักน้ำและสามารถชลอการระบายน้ำได้
• การชลประทาน สามารถจัดสรรน้ำเพื่อการชลประทาน พื้นที่เพาะปลูกของจังหวัดยะลา และจังหวัดปัตตานี
• การประมงน้ำจืด โดยอาศัยแอ่งน้ำหน้าเขื่อน และใต้เขื่อนในการเพาะพันธุ์ปลา และจับปลา
• เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจในบริเวณอ่างเก็บน้ำโดยมีการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์และรักษาป่าเพื่อให้เป็นไปตามธรรมชาติมากที่สุดในส่วนของลำน้ำก็จะมีกิจการล่องเรือ ท่องเที่ยว ดูทิวทัศน์บริเวณอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อน
2. เขื่อนกั้นแม่น้ำปัตตานี เป็นเขื่อนกั้นน้ำของกรมชลประทาน สร้างกั้นแม่น้ำปัตตานี ในบริเวณอำเภอเมืองยะลา มีเนื้อที่ประมาณ 7,500 ไร่

3.3 ทรัพยากรป่าไม้

พื้นที่ป่าไม้ในจังหวัดยะลา ส่วนใหญ่เป็นป่าดงดิบ จำแนกได้ 5 ประเภท ได้แก่
• ป่าสงวนแห่งชาติ 11 ป่า มีเนื้อที่ 668,427.75 ไร่
• ป่าเตรียมสงวน 2 ป่า มีเนื้อที่ 318,993.75 ไร่
• ป่านิคม 2 ป่า มีเนื้อที่ 100,359 ไร่
• อุทยานแห่งชาติบางลาง 1 แห่ง มีเนื้อที่ 163,125 ไร่
• เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าบาลา-ฮาลา 1 แห่ง มีเนื้อที่ 270,725 ไร่ รวมพื้นที่ป่า 1,521,630.50 ไร่
เนื้อที่ป่าไม้ที่เหลืออยู่ของจังหวัดยะลา ที่ได้จากการแปลตีความภาพถ่ายดาวเทียม LANDSAT พ.ศ. 2541 ประมาณ 696,875 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 24.66 ของพื้นที่ป่าไม้ทั้งหมด
(ข้อมูลจากสำนักงานป่าไม้ ปี 2546)
3.4 ทรัพยากรธรณี

ในพื้นที่จังหวัดยะลามีแร่ธาตุที่สำคัญนำรายได้ให้แก่จังหวัดได้แก่ หินอ่อน และแร่อื่น ๆ อีกแต่ไม่มากนัก ได้แก่ แร่วุลแฟลม และควอตซ์ ส่วนการทำหินอ่อนมีการทำกัน ที่ 2 อำเภอ คือ
• อำเภอเมืองยะลา มีเหมืองหินอ่อน 1 เหมือง มีเหมืองหินปูน 6 เหมือง
• อำเภอบันนังสตา มีเหมืองหินอ่อน 3 เหมือง
• ส่วนการทำเหมืองแร่ดีบุกในจังหวัดยะลา ปัจจุบันมีเหลือ 3 แห่ง นอกจากนั้นยังมีการทำหินทั่วไป ใน 2 อำเภอ คือ อำเภอเมืองยะลา มี 7 โรง และอำเภอเบตง มี 3 โรง นอกจากนั้น ก็มีบริษัทดูดทรายในแม่น้ำปัตตานี และแม่น้ำสายบุรี
3.5 สิ่งแวดล้อม

จากรายงานการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมของจังหวัดยะลา ที่บริษัท โมดัส คอนซัลแท็นส์ จำกัด ได้จัดทำตามที่จังหวัดว่าจ้างให้ทำการศึกษาเพื่อการลงทุนของจังหวัด สามารถประเมินในภาพรวมได้ว่า จังหวัดยะลา ยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และมีสภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี และคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยทั่วไป ไม่อยู่ในขั้นวิกฤต แต่อย่างไรก็ตามแนวโน้มของความเสื่อมโทรม ถดถอย และสภาวะมลพิษที่ปนเปื้อน ก็ยังคงต้องมีการเฝ้าระวัง มีการจัดการ และมีมาตรการในการป้องกัน เพื่อที่จะอนุรักษ์และป้องกัน หรือแก้ไขปัญหามิให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมของจังหวัดยะลา เข้าสู่สภาวะวิกฤตจนไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้

4 ลักษณะทางเศรษฐกิจ

4.1 รายได้โดยเฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนในจังหวัด
จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ.2545 ของสำนักงานสถิติจังหวัดยะลา พบว่าครัวเรือนในจังหวัดมีทั้งสิ้น 59,696 ครัวเรือน เมื่อพิจารณาตามสถานะทางเศรษฐกิจสังคมของครัวเรือน พบว่าครัวเรือนผู้ดำเนินธุรกิจส่วนตัวที่ไม่ใช่การเกษตร มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนสูงที่สุด คือ ประมาณเดือนละ 11,348 บาท รองลงมาได้แก่ ครัวเรือนลูกจ้างและครัวเรือนผู้ไม่ได้ปฏิบัติงานในเชิงเศรษฐกิจ มีรายได้เฉลี่ยประมาณเดือนละ 12,297 บาท และ 7,367 บาท ตามลำดับ สำหรับครัวเรือนผู้ถือครองทำการเกษตรมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่ากลุ่มอื่น คือ ประมาณเดือนละ 5,474 บาท

4.2 ค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนในจังหวัด
ครัวเรือในจังหวัดยะลา มีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นเฉลี่ยประมาณเดือนละ 9,582 บาท ต่อครัวเรือน ในจำนวนนี้ เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภค บริโภค 8,816 บาท หรือร้อยละ 92 ของค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ที่เหลืออีก 766 บาท หรือร้อยละ 8 เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค หากพิจารณาเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น โดยเฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนตามสถานะทางเศรษฐกิจสังคม พบว่า ครัวเรือนลูกจ้างมีระดับค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นต่อเดือนสูงที่สุด คือ เฉลี่ยประมาณเดือนละ 10,613 บาท รองลงมาคือ ครัวเรือนผู้ดำเนินธุรกิจของตนเองที่ไม่ใช่การเกษตรและครัวเรือนผู้ไม่ได้ปฏิบัติงานในเชิงเศรษฐกิจประมาณเดือนละ 10,226 บาท และ 7,851 บาท ตามลำดับ ส่วนครัวเรือนผู้ถือครองทำการเกษตรมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนต่ำที่สุด คือ 7,601 บาทต่อครัวเรือน โดยภาพรวมอัตราร้อยละของค่าใช้จ่ายต่อรายได้เท่ากับ 95.6

4.3 ครัวเรือนยากจนและจำนวนหนี้สิน
จากการสำรวจข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.)ปี 2546 ปรากฎว่ายังมีครัวเรือนที่มีระดับรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาท จำนวน 3,677 ครัวเรือน และจากจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 59,696 ครัวเรือนมีจำนวนหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนเท่ากับ 56,566 บาท โดยกลุ่มลูกจ้างผู้ปฏิบัติงานวิชาชีพ วิชาการและเสมียนพนักงานมีจำนวนหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนมากที่สุดจำนวน 116,210 บาท

4.4 สภาพแรงงาน
จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรระดับจังหวัด ไตรมาสที่ 3 กรกฎาคม กันยายน 2544 พบว่า มีกำลังแรงงานรวม 208,474 คน เป็นผู้มีงานทำ 206,278 คน ไม่มีงานทำ 2,196 คน คิดเป็นร้อยละ 1.05 ผู้มีงานทำทำงานในภาคเกษตรกรรม จำนวน 113,930 คน คิดเป็นร้อยละ 55.23 ทำงานนอกภาคเกษตรกรรม จำนวน 92,349 คน คิดเป็นร้อยละ 44.77 ผู้ทำงานนอกภาคเกษตรกรรม ส่วนใหญ่ทำงานขายส่งและขายปลีก รองลงมาทำงานโรงแรมและภัตตาคาร และงานการผลิตตามลำดับ และหากจำแนกตามระดับการศึกษาที่สำรวจพบว่า ร้อยละ 53.64 มีการศึกษาระดับประถมศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษาและร้อยละ 14.42 เป็นผู้ไม่มีการศึกษา

4.5 โครงสร้างทางเศรษฐกิจ
จังหวัดยะลาส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับภาคเกษตรกรรม รองลงมาได้แก่ การพาณิชยกรรม การคมนาคมขนส่ง การบริหาร และการก่อสร้าง ตามลำดับ

4.6 การเกษตรกรรม
ราษฎรในจังหวัดยะลา ประกอบอาชีพการเกษตรเป็นอาชีพหลัก มีเนื้อที่ถือครองเพื่อการเกษตร1,550,923 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 47.11 ของพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัด (พื้นที่ทำการเกษตรจริง จำนวน 1,181,801 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 88.77 ของพื้นที่ถือครองเพื่อการเกษตร)

4.7 การเพาะปลูก พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดยะลา ได้แก่
1. การทำสวนยางพารา เป็นพืชเศรษฐกิจและมีทั่วพื้นที่ในจังหวัดยะลา โดยทำรายได้ให้จังหวัดหลายพันล้านต่อปี โดยมีเนื้อที่เพาะปลูกทั้งหมด 1,043,174 ไร่ ให้ผลผลิต 189,916 ตัน
2. การทำสวนไม้ผล เช่น ทุเรียน ส้มโชกุน และลองกอง โดยเฉพาะลองกองนิยมปลูกกันมากในอำเภอธารโต เพราะพื้นที่มีลักษณะเป็นที่ราบสูง และสามารถทำรายได้เป็นอย่างดี โดยมีพื้นที่เพาะปลูก ดังนี้
• ยางพารา มีเนื้อที่เพาะปลูก 1,043,174 ไร่ พื้นที่ให้ผล 760,415 ไร่ ผลผลิตรวม 189,917 ตัน
• ทุเรียน มีเนื้อที่เพาะปลูก 47,568 ไร่ พื้นที่ให้ผล 29,761 ไร่ ผลผลิตรวม 33,052 ตัน
• ลองกอง มีเนื้อที่เพาะปลูก 50,214 ไร่ ผลผลิต 24,183 ไร่ ผลผลิตรวม 31,490 ตัน
• ส้มโชกุน มีเนื้อที่เพาะปลูก 3,530 ไร่ ผลผลิต 3,385 ตัน
3. การทำนา เนื้อที่เพาะปลูก 68,899 ไร่ มากที่สุดที่อำเภอรามัน 37,627 ไร่ รองลงมา ได้แก่
• อำเภอเมือง 22,854 ไร่ อำเภอยะหา 5,066 ไร่ กิ่งอำเภอกรงปินัง 2,501 ไร่ และอำเภอบันนังสตา 851 ไร่ โดยเพาะปลูกข้าวเจ้า ผลผลิตรวม 21,269 ตัน (ข้อมูลจากสำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา ณ เดือนมกราคม 2546)

4.8 การปศุสัตว์
ผลผลิตทางด้านปศุสัตว์ ได้แก่ โคเนื้อ กระบือ ไก่เนื้อ ไก่พื้นเมือง ไก่ไข่ สุกรขุน โคนม แพะ แกะ เป็ดเทศ และนกกระทา มีมูลค่า 739,635,618 บาท (ข้อมูลจากสำนักงานปศุสัตว์ ประจำเดือนธันวาคม 2545)

4.9 การประมง
จังหวัดยะลา เป็นจังหวัดเดียวในภาคใต้ที่ไม่มีอาณาเขตติดต่อกับทะเล แต่ก็มีทรัพยากรด้านการประมงน้ำจืดเพียงพอต่อการบริโภคภายในจังหวัด และจำหน่ายไปยัง จังหวัดใกล้เคียง ซึ่งผลผลิตการประมงจำแนกออกเป็น 2 ประเภทคือ การเพาะเลี้ยง มีผลผลิตจำนวน 196.76 ตัน และผลผลิตตามธรรมชาติ จำนวน 177.18 ตัน คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 14,986 ล้านบาท
(ข้อมูลจากสำนักงานประมง ปี 2545)

4.10 การอุตสาหกรรม
การประกอบกิจการโรงงานในจังหวัดยะลา (ข้อมูลปี 2546ป มีจำนวน 348 โรงงาน เงินทุนรวม 5,193,502,070 ล้านบาท แรงงานทั้งหมด 6,889 คน ส่วนใหญ่เป็นการประกอบกิจการแปรรูปไม้ยางพาราการเกษตรและก่อสร้างโดยมีแหล่งที่ตั้งโรงงานอยู่ในเขตอำเภอเมืองยะลาอำเภอรามันและอำเภอเบตงมากตามลำดับ

การอุตสาหกรรมในจังหวัดยะลา มีหลายอย่าง จำแนกตามประเภทอุตสาหกรรมได้ ดังนี้
• การเกษตร 71 แห่ง 6. วัสดุก่อสร้าง 58 แห่ง
• อาหาร และเครื่องดื่ม 27 แห่ง 7. บริการ 50 แห่ง
• แปรรูปไม้ และผลิตภัณฑ์ไม้ 75 แห่ง 8. สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 1 แห่ง
• เคมีภัณฑ์และพลาสติก 1 แห่ง 9. อื่น ๆ 61 แห่ง
• โลหะและอโลหะ 12 แห่ง (ข้อมูลจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดยะลา ประจำเดือนมกราคม 2546)

4.11 การพาณิชย์
ผู้จดทะเบียนประกอบธุรกิจการค้า จำแนกตามประเภทการจดทะเบียน ดังนี้
• ทะเบียนพาณิชย์ 4,053 ราย
• ห้างหุ้นส่วน สามัญนิติบุคคล 5 ราย
• ห้างหุ้นส่วน จำกัด 805 ราย
• บริษัท 217 ราย
(ข้อมูลจากสำนักงานทะเบียนการค้าจังหวัดยะลา ปี 2545)

4.12 การท่องเที่ยว
จังหวัดยะลา มีกิจกรรมหลายอย่างในพื้นที่ เช่น การจัดงานสมโภชหลักเมือง งานประเพณีฟื้นฟูของดีเมืองยะลา งานเทศกาลการแข่งขันนกเขาชวา ชนะเลิศกลุ่มประเทศอาเซียน
แหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดยะลา ที่สำคัญ มีดังนี้
• ศาลหลักเมือง ตั้งอยู่หน้าศาลากลางจังหวัดยะลา เป็นที่เคารพบูชาของชาวจังหวัดยะลาและนักท่องเที่ยว
• สนามโรงพิธีช้างเผือก ตั้งอยู่ในเขตเทศบาล ปัจจุบันได้สร้างอาคารช้างเผือก พระเศวตสุรคชาธารŽ ใช้เป็นสนามในการแข่งขันกีฬา
• สวนขวัญเมือง (พรุบาโกย) ตั้งอยู่ใกล้ศาลจังหวัดยะลา มีสวนน้ำ และสวนดอกไม้ ไม้ประดับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของคนทั่วไป
• ถ้ำคูหาภิมุข ตั้งอยู่ตำบลหน้าถ้ำ อำเภอเมือง ห่างจากตัวเมืองประมาณ 6 กิโลเมตร เป็นสถานที่รวมความงามตามธรรมชาติของ ภูผา หินงอก หินย้อย ถ้ำพระนอน ถ้ำมืด และพิพิธภัณฑ์ของเก่าแก่ สมัยศรีวิชัย
• เขื่อนบางลาง ตั้งอยู่ตำบลเขื่อนบางลาง อำเภอบันนังสตา ห่างจากจังหวัด 60 กิโลเมตรเป็นสถานที่พักผ่อนดูทะเลสาปบนภูเขา
• น้ำตกสุขทาลัย ตั้งอยู่ที่นิคมพัฒนาภาคใต้ อำเภอบันนังสตา
• น้ำตกละอองรุ้ง ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่หวาด อำเภอธารโต
• น้ำตกธารโต ตั้งอยู่ที่ตำบลถ้ำทะลุ อำเภอบันนังสตา ห่างจากจังหวัดยะลา 57 กิโลเมตร
• น้ำพุร้อน ตั้งอยู่ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง ห่างจากจังหวัด 130 กิโลเมตร มีบริการอาบน้ำแร่ ห้องอาหาร ศาลาพักผ่อน
• สวนสาธารณะกลางเมืองเบตง ห่างจากจังหวัด 140 กิโลเมตร เป็นสถานที่พักผ่อน มีสระน้ำ น้ำตกกลางเมือง และสวนไม้ดอกเมืองหนาว
• หมู่บ้านซาไก ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านแหร ซาไกที่จังหวัดยะลา สมเด็จพระบรมราชชนนี ทรงพระราชทานชื่อสกุลให้ว่า “ศรีธารโต”
• มัสยิดกลางยะลา ตั้งอยู่ในเขตเทศบาล เป็นสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจของชาวมุสลิม ห่างจากศาลากลางจังหวัด ประมาณ 3 กิโลเมตร
• ศาลาดูดวงจันทร์ ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลยะหา อำเภอยะหา ห่างจากจังหวัดยะลา 22 กิโลเมตร เป็นจุดทีสามารถมองดูทิวทัศน์ของพื้นที่จังหวัดยะลา ที่สวยงามที่สุด และเป็นจุดเดียวของประเทศไทย ที่สามารถมองเห็นดวงจันทร์ เพื่อต้อนรับเดือนรอมฎอน และต้อนรับวันฮารีรายอ ของชาวมุสลิมทั้งประเทศและประเทศมาเลเซีย
• ป่าฮาลา-บาลา หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สวนป่าพระนามาภิไธยภาคใต้ เป็นป่าดงดิบชื้น อยู่บริเวณตอนใต้สุดของประเทศ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด คือ อำเภอสุคิริน, อำเภอจะแนะ อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส และอำเภอบันนังสตา, อำเภอธารโต อำเภอเบตง จังหวัดยะลา มีเนื้อที่ทั้งหมด 836,000 ไร่
• ถ้ำกระแชง ตั้งอยู่ที่ตำบลบันนังสตา อำเภอบันนังสตา ห่างจากจังหวัดยะลา ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 410 เป็นระยะทางประมาณ 52 กิโลเมตร แล้วแยกเข้าไปตามทางลูกรังอีกประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นถ้ำที่สวยงามตามธรรมชาติ เพดานถ้ำมีหินย้อยมากมาย สภาพแวดล้อม โดยรอบร่มรื่น เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ ถ้ำที่อยู่ใกล้เคียงกับถ้ำกระแชง อีก 3 ถ้ำ ได้แก่ ถ้ำลูกอม ถ้ำลอด และถ้ำพระ
• อุโมงค์เบตง ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 2 บ้านปิยะมิตร 1 ตำบลตะเนาะแมเราะ อำเภอเบตง ในบริเวณภูเขา ซึ่งผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (โจรจีนคอมมิวนิสต์ เขต 2) ได้ขุดไว้เมื่อปี พ.ศ. 2519 มีทางเข้าอุโมงค์ 9 ทาง เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์การเมือง ในอดีตที่น่าสนใจ และควรค่าแก่การอนุรักษ์ ตลอดจนเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจแหล่งหนึ่ง
• น้ำตกฮาลาซะห์ ตั้งอยู่บริเวณที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติบางลาง ใกล้กับหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนาที่ 9 ตำบลแม่หวาด อำเภอธารโต
• น้ำตกคอกช้าง ตั้งอยู่ระหว่างชุมชนตลาดกับหมู่บ้าน ในเขตเทศบาลตำบลคอกช้าง
• ทะเลสาปธารโต เป็นทะเลสาปที่เกิดจากการทำเขื่อนบางลาง ทำให้น้ำท่วมเหนือเขื่อน คือ บริเวณบ้านโต ปัจจุบันมีบริการแพสำหรับนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังมีอุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ ตำบลเบตง อำเภอเบตง หมู่บ้านทำกริช ตำบลตะโลหะลอ อำเภอรามัน และผ้าบาติก ตำบลท่าสาป อำเภอเมือง เป็นต้น

5. ลักษณะทางสังคม

5.1 ประชากร
5.1.1. ประชากรทั้งหมด 466,885 คน เพศชาย 233,235 คน เพศหญิง 233,620 คน
5.1.2. ประชากรจังหวัดยะลา แยกตามอำเภอได้ ดังนี้
• อำเภอเมืองยะลา 92,359 คน เพศชาย 45,255 คน เพศหญิง 47,104 คน
• อำเภอรามัน 73,574 คน เพศชาย 36,071 คน เพศหญิง 37,503 คน
• อำเภอบันนังสตา 49,433 คน เพศชาย 25,621 คน เพศหญิง 23,812 คน
• อำเภอธารโต 19,191 คน เพศชาย 10,017 คน เพศหญิง 9,174 คน
• อำเภอเบตง 30,626 คน เพศชาย 16,146 คน เพศหญิง 14,480 คน
• อำเภอยะหา 47,876 คน เพศชาย 24,242 คน เพศหญิง 23,634 คน
• อำเภอกาบัง 16,459 คน เพศชาย 8,500 คน เพศหญิง 7,959 คน
• กิ่งอำเภอกรงปินัง 21,564 คน เพศชาย 10,765 คน เพศหญิง 10,799 คน
• เทศบาลตำบลโกตาบารู 3,722 คน เพศชาย 1,863 คน เพศหญิง 1,859 คน
• เทศบาลตำบลกายูบอเกาะ 4,748 คน เพศชาย 1,195 คน เพศหญิง 2,389 คน
• เทศบาลตำบลยะหา 2,384 คน เพศชาย 1,195 คน เพศหญิง 1,189 คน
• เทศบาลตำบลคอกช้าง 1,385 คน เพศชาย 730 คน เพศหญิง 655 คน
• เทศบาลตำบลบันนังสตา 2,733 คน เพศชาย 1,408 คน เพศหญิง 1,325 คน
• เทศบาลตำบลลำใหม่ 948 คน เพศชาย 470 คน เพศหญิง 478 คน
• เทศบาลตำบลเบตง 25,829 คน เพศชาย 12,765 คน เพศหญิง 13,064 คน
• เทศบาลนครยะลา 74,024 คน เพศชาย 35,828 คน เพศหญิง 38,196 คน
(ที่มา : ศูนย์ประมวลผลข้อมูลจังหวัดยะลา ณ วันที่ 31 มีนาคม 2546)

5.2 การศึกษา
สถาบันการศึกษาในจังหวัดยะลา ที่อยู่ในสังกัดต่าง ๆ แบ่งได้ ดังนี้
• สังกัดกรมสามัญศึกษา 11 แห่ง
• สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาแห่งชาติ 196 แห่ง
• สังกัดสำนักงานการศึกษาเอกชน 62 แห่ง
• สังกัดสำนักงานการศึกษาท้องถิ่น 12 แห่ง
• สังกัดสำนักงานสถาบันราชภัฏ (ร.ร.สาธิตสถาบันราชภัฏยะลา) 1 แห่ง
• สังกัดกรมตำรวจ (ร.ร. ตำรวจตระเวณชายแดน) 4 แห่ง
• สังกัดกรมพลศึกษา (ร.ร. กีฬา) 1 แห่ง
• สังกัดกรมการศาสนา 1 แห่ง
(ข้อมูลจากสำนักงานศึกษาธิการ จังหวัดยะลา)

5.3 การศาสนาและวัฒนธรรม
การศาสนา
1. จำนวนสถาบันทางศาสนา
• วัด และสำนักสงฆ์ 61 แห่ง (วัด 41 แห่ง และสำนักสงฆ์ 20 แห่ง)
• มัสยิด 413 แห่ง (จดทะเบียน 402 แห่ง และไม่จดทะเบียน 11 แห่ง)
• โบสถ์คริสต์ 6 แห่ง
• ศาลเจ้า 30 แห่ง
• ศูนย์อบรมศาสนาและจริยธรรมประจำมัสยิด 219 แห่ง
• ศูนย์วัฒนธรรม 1 แห่ง
• สภาวัฒนธรรมอำเภอ 8 แห่ง
• สภาวัฒนธรรมตำบล 16 แห่ง
• โบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนแล้ว 3 แห่ง
• โบราณสถานอยู่ระหว่างดำเนินการขึ้นทะเบียน 14 แห่ง
(ข้อมูลจากสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดยะลา ณ เดือนธันวาคม 2546)

2. การนับถือศาสนาของประชากร
• ศาสนาพุทธ ร้อยละ 22.74 ของจำนวนประชากรทั้งหมด
• ศาสนาอิสลาม ร้อยละ 76.58 ของจำนวนประชากรทั้งหมด
• ศาสนาอื่น ๆ ร้อยละ 0.31 ของจำนวนประชากรทั้งหมด
ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมและประเพณีท้องถิ่น
1. งานมหกรรมแข่งขันนกเขาชวาเสียงอาเซียน (วันเสาร์ – อาทิตย์แรกของเดือนมีนาคมทุกปี) มีขบวนแห่เปิดการแข่งขัน โดยมีกลุ่มผู้เลี้ยงนกเขาชวาเสียงจากประเทศมาเลเซีย สิงค์โปร์ อินโดนีเซีย บรูไน และชมรมผู้เลี้ยงนกเขาชวาเสียงของทุกจังหวัดในประเทศไทย เดินทางมาร่วมการแข่งขัน และมีการจำหน่ายสินค้า ผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์การเลี้ยงนกเขาชวาทุกชนิด
2. งานสมโภชหลักเมืองยะลา (วันที่ 25 พฤษภาคม – 4 มิถุนายน ของทุกปี) มีขบวนแห่หลักเมืองจำลองไปรอบเมืองยะลา มีการออกร้านนิทรรศการ และการแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์ของส่วนราชการต่าง ๆ รวมทั้งการแสดงมหรสพพื้นบ้านทางภาคใต้ เช่น มหโนราห์ หนังตลุง ลิเกฮูลู ฯลฯ
3. งานประเพณีของดีเมืองยะลา (วันเสาร์ – อาทิตย์แรกของเดือนสิงหาคม ของทุกปี มีขบวนแห่เปิดงานและการแสดงศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีพื้นบ้านของชาวจังหวัดภาคใต้ทุกเชื้อชาติ ศาสนา เช่น ขบวนแห่ปลามังกร ช้าง เงาะซาไก รถผลไม้ รถบุปผาชาติการประกวดการแต่งกายชุดบานง ประกวดบายศรี และบุหงาศิริ รำรองเง็ง ฯลฯ
4. การรำซีละ เป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านของจังหวัดยะลา มีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ ไม่ซ้ำแบบภาคอื่น ๆ เป็นการต่อสู้ป้องกันตัวของชายไทยมุสลิม คล้ายมวยไทย แสดงเป็นคู่ ๆ ผู้แสดงจะเป็นชายล้วน
5. การรำร็องแง็ง เป็นการแสดงพื้นบ้าน นิยมเล่นกันมากในภาคใต้ เป็นเวลามาช้านานเป็นศิลปะการแสดงหมู่ ประกอบด้วย ผู้เต้นชาย – หญิง เป็นคู่ แต่นิยมเต้นกันไม่ต่ำกว่า 5 คู่
6. การถือศีลอด ภาษาถิ่นเรียกว่า “ปอซอ” หรือถือบวช เป็นบทบัญญัติหลักการปฏิบัติของศาสนาอิสลามที่มุสลิมทุกคนจะต้องถือปฏิบัติ โดยละเว้นจากการรับประทานอาหาร ดื่มน้ำ โดยเฉพาะจะต้องสำรวมตนเป็นเวลา 1 เดือน ในเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่ 9 ของปีปฏิทิน อิจเราะฮ์ศักราช ก่อนถึงวันที่ 1 ของเดือนรอมฎอน จะมีผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง จะต้องดูดวงจันทร์ระหว่างพระอาทิตย์ตกดิน จังหวัดยะลาเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีผู้เห็นดวงจันทร์อยู่บ่อย ๆ มีศาลาดูดวงจันทร์ที่อำเภอยะหา จังหวัดยะลา

5.4 การสาธารณสุข
จังหวัดยะลา มีสถานบริการด้านสาธารณสุข ดังนี้
สถานบริการของรัฐ
• โรงพยาบาลศูนย์ยะลา 1 แห่ง 497 เตียง
• โรงพยาบาลเบตง 1 แห่ง 170 เตียง
• โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา 1 แห่ง 30 เตียง
• โรงพยาบาลประจำอำเภอ 4 แห่ง 130 เตียง (อ.รามัน, ธารโต, กาบัง และบันนังสตา)
• สถานีอนามัย 80 แห่ง
• สถานบริการสาธารณสุขชุมชน 3 แห่ง
• สถานส่งเสริมอนามัยแม่และเด็ก (ร.พ.แม่และเด็ก) 1 แห่ง 100 เตียง
• วิทยาลัยสาธารณสุขยะลา 1 แห่ง
• ศูนย์วัณโรคเขต 12
• ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงที่ 41 ยะลา 1 แห่ง
สถานบริการของเอกชน
• โรงพยาบาลสิโรรส 100 เตียง
• คลีนิกแพทย์ 66 แห่ง
• คลีนิกทันตกรรม 18 แห่ง
• ร้านขายยาแผนปัจจุบัน 36 แห่ง
• ร้านขายยาแผนปัจจุบันบรรจุเสร็จ 35 แห่ง

6. การรักษาความสงบเรียบร้อย

จากการสำรวจข้อมูล จปฐ.ประจำปี 2546 จากจำนวนที่สำรวจทั้งหมด 48,574 ครัวเรือน พบว่ามีครัวเรือนจำนวน 801 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 1:6 ที่ไม่ผ่าน เกณฑ์ครัว เรือนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน (หมายถึงมีคนถูกลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ ปล้นทรัพย์ หลอกลวงหรืออาชญากรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับชีวิตและทรัพย์สิน) และจาก รายงานสถิติคดีอาญากรรมของตำรวจภูธรจังหวัดยะลา ในรอบปี พ.ศ.2545 มีคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ คดีประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกายและเพศ และคดีประทุษร้าย ต่อทรัพย์เกิดขึ้น 607 ราย จับได้ 230 ราย คิดเป็นร้อยละ 37.89 ขณะที่จังหวัดยะลามีสถานีตำรวจภูธรอำเภอ/กิ่งอำเภอ และสถานีตำรวจภูธรตำบล จำนวน 17 แห่ง มีอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวม 1,545 นาย โดยมีผู้ปฏิบัติงานตามกรอบอัตรากำลัง จำนวน 1,444 นาย

7. ลักษณะทางด้านการเมืองและการบริหาร

7.1 การเมือง

จังหวัดยะลา แบ่งการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอ 56 ตำบล 365 หมู่บ้าน จัดการปกครองท้องถิ่นเป็น 1 องค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 เทศบาลนคร 1 เทศบาลเมือง 6 เทศบาลตำบล และ 55 องค์การบริหารส่วนตำบล มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 3 คน และสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 1 คน