คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้ง สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด

พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๖๒ มาตรา ๔๙ มาตรา ๕๐ และมาตรา ๕๑ ประกอบพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๕๔๐ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๖๒ มาตรา ๙ และมาตรา ๓๕/๑ ได้กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งและได้กำหนดหลักฐานและค่าธรรมเนียมที่ผู้สมัครจะใช้ประกอบการสมัครไว้ ดังต่อไปนี้

                 ๑. คุณสมบัติผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 

(๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด

(๒) ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า
๒๕ ปี นับถึงวันเลือกตั้ง สำหรับผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดต้องมีอายุ
ไม่ต่ำกว่า ๓๕ ปี นับถึงวันเลือกตั้ง

               (๓) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สมัครรับเลือกตั้ง
ในวันสมัครรับเลือกตั้ง เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า ๑ ปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง

                 (๔) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า หรือเคยเป็นสมาชิกสภาจังหวัด
สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกรัฐสภา (เฉพาะผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด)

                 ๒. ลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

                 (๑) ติดยาเสพติดให้โทษ

                 (๒) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต

                 (๓) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ

                 (๔) เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา ๓๙ (๑) เป็นภิกษุสามเณรนักพรตหรือนักบวช (๒) อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดหรือไม่ หรือ (๔) วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

                 (๕) อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิ
สมัครรับเลือกตั้ง

                 (๖) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล

                 (๗) เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง ๕ ปี นับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิด
อันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

                 (๘) เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่
หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ

                 (๙) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

                 (๑๐) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อ
ตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิด
ตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือ กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน

                 (๑๑) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง

                 (๑๒) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ

                 (๑๓) เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น

                 (๑๔) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

                 (๑๕) เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ

                 (๑๖) อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

                 (๑๗) เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่ง
ทางการเมืองมีคำพิพากษาว่าเป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือ
จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

                 (๑๘) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ว่าจะได้รับโทษหรือไม่โดยได้พ้นโทษหรือต้องคำพิพากษามายังไม่ถึง ๕ ปี นับถึงวันเลือกตั้ง แล้วแต่กรณี

                 (๑๙) เคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา
สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือกฎหมายว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น แล้วแต่กรณี มายังไม่ถึง ๕ ปี
นับถึงวันเลือกตั้ง

                 (๒๐) อยู่ในระหว่างถูกจำกัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตามมาตรา ๔๒ หรือตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

                 (๒๑) เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและยังไม่พ้น ๕ ปี นับแต่วันที่พ้นจากการถูกเพิกถอน
สิทธิเลือกตั้งจนถึงวันเลือกตั้ง

                 (๒๒) เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดียวกันหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น                            

                 (๒๓) เคยพ้นจากตำแหน่งใด ๆ ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะเหตุมีส่วนได้เสียไม่ว่า
โดยทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาหรือกิจการที่กระทำหรือจะกระทำกับหรือให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นหรือมีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาหรือกิจการที่กระทำกับหรือจะกระทำกับหรือให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น โดยมีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าเป็นการต่างตอบแทนหรือเอื้อประโยชน์ส่วนตนระหว่างกัน และยังไม่พ้นห้าปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งจนถึงวันเลือกตั้ง

                 (๒๔) เคยถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งใด ๆ ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพราะจงใจไม่ปฏิบัติ
ตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ หรือมติคณะรัฐมนตรี อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรงและยังไม่พ้น ๕ ปี นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งจนถึงวันเลือกตั้ง

                 (๒๕) เคยถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งใด ๆ ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพราะทอดทิ้งหรือละเลย
ไม่ปฏิบัติการตามหน้าที่และอำนาจ หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยหน้าที่และอำนาจ หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อ
ความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือมีความประพฤติในทางที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่
ศักดิ์ตำแหน่ง หรือแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือแก่ราชการ และยังไม่พ้น ๕ ปี นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง
จนถึงวันเลือกตั้ง

                 ๓. การสมัครรับเลือกตั้ง

                 ให้ผู้สมัครยื่นใบสมัครต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมทั้งหลักฐานการสมัครและค่าธรรมเนียมการสมัคร ดังนี้

                 ๓.๑ หลักฐานและเอกสารประกอบการยื่นใบสมัครรับเลือกตั้ง

                 (๑) ใบสมัครรับเลือกตั้งตามแบบ ส.ถ./ผ.ถ. ๔/๑

                 (๒) รูปถ่ายหน้าตรงไม่สวมหมวก หรือ รูปภาพที่พิมพ์ชัดเจนเหมือนรูปถ่ายของตนเอง
ตามจำนวนที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด

                 (๓) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน

                 (๔) สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน

                 (๕) ใบรับรองแพทย์

                 (๖) หลักฐานการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นเวลาติดต่อกัน ๓ ปี นับถึงปีที่สมัครรับเลือกตั้ง

เว้นแต่เป็นผู้ไม่ได้เสียภาษีเงินได้  ให้ทำหนังสือยืนยันการไม่ได้เสียภาษีพร้อมทั้งสาเหตุแห่งการไม่ได้เสียภาษี  ตามแบบ ส.ถ./ผ.ถ. ๔/๒

                 ทั้งนี้ ผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้ง สามารถขอคัดสำเนาหลักฐานการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาย้อนหลัง ๓ ปี (๒๕๖๐ , ๒๕๖๑ , ๒๕๖๒) ได้ที่สำนักงานสรรพากรเขตพื้นที่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง

                 ๓.๒ ค่าธรรมเนียมการสมัครรับเลือกตั้ง

                 (๑) สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน ๒,๐๐๐ บาท

                 (๒) นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน ๓๐,๐๐๐ บาท

                 ผู้ที่มีความประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือ
นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด สามารถศึกษาข้อมูลได้จากพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น
หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๖๒ และพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๕๕๐ แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๖๒ หรือ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.ect.go.th แอพพลิเคชัน Smart Vote
หรือสอบถามสายด่วน ๑๔๔๔

                 อนึ่ง การสมัครรับเลือกตั้งโดยรู้ว่าตนเองขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการสมัคร
มีโทษตามมาตรา ๑๒๐ ที่บัญญัติว่า ผู้ใดลงสมัครรับเลือกตั้งโดยรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นผู้ขาดคุณสมบัติหรือ
มีลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๑ ปี ถึง ๑๐ ปี และปรับตั้งแต่
๒๐,๐๐๐ บาท ถึง ๒๐๐,๐๐๐ บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด ๒๐ ปี

ที่มา : https://www.ect.go.th/phayao/ewt_news.php?nid=8640&ewt=ZGJfMTE5X2VjdF90aA==&filename=index

แชร์ข่าวนี้

Share on facebook
Share on twitter
Share on email